
วันพุธ ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563, 13.59 น.
ภายหลังการประชุม ศบค. ที่ประชุม มีมติต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน จ่อชงครม. 29 ก.ค.นี้ ปรับวันแถลงเหลือ “จันทร์-พุธ-ศุกร์” หลังเคสระยองคลี่คลาย
เมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ชุดใหญ่ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า เหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปอีก 1 เดือนนั้น จากการพูดคุยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยได้เชิญหน่วยงานด้านความมั่นคง ประชาคมข่าวกรองและเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข รวมทั้งคณะแพทย์ ซึ่งทั้งหมดได้ยินยันว่ายังต้องการที่จะมีกฎหมายลักษณะควบคุมต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อน เหตุผลเพราะว่าสถานการณ์โลกในปัจจุบันพบว่ามีการติดเชื้อทั่วโลกเฉลี่ยวันละเกือบ 200,000 ราย ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ยังรุนแรง และอยู่รายล้อมประเทศไทย จึงคงมีจำเป็นต้องมีการใช้สถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่าขณะนี้เราอยู่ในช่วงที่เราจำเป็นต้องเปิดประเทศมากยิ่งขึ้น และในที่ประชุม ศบค.วันเดียวกันนี้ ก็ได้ให้ความเห็นชอบในหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการรับแรงงานต่างด้าว การเปิดให้มีการผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น มีโปรแกรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น การอนุญาตให้ชาวต่างชาติมาจัดการประชุมในประเทศไทย หรือแม้แต่การอนุญาตให้เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ทั้งหมดเพื่อเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข
เลขาฯสมช. กล่าวว่า เครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่จะประกันได้ว่าสิ่งที่เราอนุญาตหรือผ่อนคลายไปในเชิงธุรกิจ ในเชิงเศรษฐกิจ จะถูกชั่งน้ำหนักโดยความปลอดภัยด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นเครื่องมืออย่างเดียวในขณะนี้ที่มีอยู่คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยังไม่มีกฎหมายตัวอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะนิ่งนอนใจ เข้าใจดีว่าทีมงานทางด้านกฏหมาย และกระทรวงสาธารณสุข ได้พยายามเร่งรัดที่จะปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญใช้ในการควบคุมโรค เพื่อให้มีบทบาทและอำนาจหน้าที่มากยิ่งขึ้นใกล้เคียงกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำอยู่
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ซึ่งยังไม่มีกฎหมายออกมา จึงยังมีความจำเป็นที่จะคงมาตรการสำคัญของรัฐโดยเฉพาะในการกักตัว 14 วัน ซึ่งถือเป็นมาตรการสำคัญ เครื่องมือเดียวที่จะทำได้คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
“แต่เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสบายใจยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาเราพยายามใช้มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยากค่อนข้างเบาที่สุดแล้ว ถึงวันนี้เราไม่ได้มีการห้ามการออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิว วันนี้สิ่งที่เราจะไม่ห้ามต่อไปคือเราจะไม่ใช้มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาห้ามการชุมนุม เพื่อแสดงให้เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ต่อในเดือนสิงหาคมนี้ มีเจตนาเพื่อใช้ในการควบคุมโรคโดยบริสุทธิ์ใจเพียงอย่างเดียว การห้ามการชุมนุมจะไม่ปรากฏใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ต่ออายุ 1 เดือน แต่การชุมนุมทางการเมืองก็ต้องปฏิบัติตามกฏหมายอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นกฎหมายปกติ ขอยืนยันอีกครั้งว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้าเพื่อต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน โดยไม่มีมาตรการเรื่องการห้ามการชุมนุมเพื่อให้มั่นใจว่าเราใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อประโยชน์ในการสาธารณสุขอย่างแท้จริง"
ผู้สื่อข่าวถามว่าในการชุมนุมที่ผ่านมาที่มีบางคนถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะดำเนินการอย่างไรต่อ พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ก็ต้องว่าไปตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง แต่วันนี้การพูดถึงการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือนคือเดือนสิงหาคมเราจะไม่นำประเด็นเรื่องการห้ามการชุมนุมมาเกี่ยวข้องอีกต่อไป ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะแจ้งข้อหาโดยใช้กฎหมายอื่นหรือแม้แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้
เมื่อถามว่าฝ่ายกฎหมายและกระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการเร่งปรับปรุง พ.ร.บ.โรคติดต่อ และกฎหมายที่จะมาใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะใช้กรอบระยะเวลาอีกนานแค่ไหน เลขาฯสมช. กล่าวว่า จะดำเนินการโดยเร็วที่สุดเพราะเราตระหนักดี และตั้งแต่ต้นที่มีการตั้ง ศบค.ขึ้นมามีกฎหมายสองฉบับที่ใช้ควบคู่กันมาคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อแต่เมื่อใช้มาระยะหนึ่งแล้วได้พบว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีจุดดีอย่างไร หรือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ มีข้อเสียอย่างไรแต่ไม่ได้เป็นการเปรียบเทียบกฎหมายสองฉบับ เพราะกฎหมายทั้งสองฉบับถูกออกแบบมาเพื่อประโยชน์ที่ต่างกัน พ.ร.บ.โรคติดต่อถูกออกแบบมาในการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อำนาจหน้าที่ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้สามารถกำหนดมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการป้องกัน มาตรการแก้ไขควบคู่กันไป จึงได้เห็นการใช้กฎหมายทั้งสองฉบับควบคู่มาอย่างต่อเนื่อง แต่แน่นอนว่าทีมกฎหมายที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีมก็กำลังพิจารณาว่าเมื่อเป็นเช่นนี้จะต้องไปหาจุดดีของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อมาผนวกกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่ออนาคตจะสามารถใช้ พ.ร.บ.ต่อเพียงฉบับเดียวได้
“พูดได้ชัดคือการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเดือนสิงหาคมนี้ได้เอามาตรา 9 ออกไปการชุมนุมการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในประเทศเป็นปกติ กฎหมายฉบับนี้จะควบคุมสำหรับคนที่เดินทางเข้าประเทศเพื่อกักตัว 14 วัน ซึ่งการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงต้นนั้นเพื่อใช้บังคับประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้ทำในบางสิ่ง และกิจการบางอย่างเพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคและจำกัดการเคลื่อนไหว แต่ระยะหลังเรามีมาตรการการผ่อนคลายจนถึงขณะนี้คือระยะที่ 5 ไปแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะใช้เพื่อประโยชน์ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีมาตรการอื่นในเชิงบังคับประชาชนอีกต่อไป นี่คือความแตกต่างแต่ยังคงจำเป็นที่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีกอย่างน้อย 1 เดือนก่อน เพื่อรอว่าจะมีกฎหมายอื่นที่จะมาทดแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน"
"ต้องการที่จะ" - Google News
July 22, 2020 at 01:59PM
https://ift.tt/2E1FTz6
อ่านรายละเอียดที่นี่! ศบค.ยกเหตุผลต่อพรก.ฉุกเฉิน ยกเลิกมาตรา9 'ไม่ห้ามชุมนุม' - หนังสือพิมพ์แนวหน้า
"ต้องการที่จะ" - Google News
https://ift.tt/307JncB
Bagikan Berita Ini
0 Response to "อ่านรายละเอียดที่นี่! ศบค.ยกเหตุผลต่อพรก.ฉุกเฉิน ยกเลิกมาตรา9 'ไม่ห้ามชุมนุม' - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"
Post a Comment