Search

88 ปี ปฏิวัติสยาม : เปิดเอกสารรัฐบาลอังกฤษว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งในคณะราษฎร - บีบีซีไทย

janganre.blogspot.com

เอกสารของรัฐบาลอังกฤษเมื่อ 88 ปีก่อน ระบุว่า นักการทูตอังกฤษทั้งในกรุงเทพฯ และลอนดอนเห็นพ้องว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกในขณะนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ 24 มิ.ย.2475 ซึ่งไม่ได้มีความประสงค์ที่จะโค่นกษัตริย์

เผด็จ ขำเลิศสกุล นักวิจัยประวัติศาสตร์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งหอจดหมายเหตุแห่งชาติอังกฤษ (The National Archives) ในกรุงลอนดอน เปิดเผยกับบีบีซีไทย ถึงเนื้อหาของเอกสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยที่ค้นพบในหมวด "Foreign Office" หรือ กระทรวงการต่างประเทศ

เอกสารสำคัญชุดหนึ่งคือโทรเลขที่นายเจ.เอฟ.จอห์นส์ (J.F.Johns) อุปทูตของอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ในขณะนั้นได้ส่งรายงานด่วนกลับมาที่กระทรวงการต่างประเทศในลอนดอน ทันทีที่ทราบข่าวการรัฐประหารในวันที่ 24 มิ.ย. มีใจความว่า


ในพระปรมาภิไธย อุปทูต (กรุงเทพฯ) 24 มิ.ย. 2475

โดยทันที

เมื่อเช้านี้เกิดการปฏิวัติขึ้นที่นี่ ดูเหมือนว่าผู้ก่อการครั้งนี้คือบรรดานาวิกโยธินที่ได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากกองทัพบก ผู้ก่อการปฏิวัติได้จับตัวเจ้าฟ้าบริพัตร [สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต] และพระองค์เจ้าบุรฉัตร [พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน]...และบุคคลชั้นนำอีกหลายราย ศาลยุติธรรมถูกยึด พระมหากษัตริย์ในขณะนี้ไม่ได้ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ แต่เสด็จไปหัวหิน

วัตถุประสงค์ของการก่อการครั้งนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าไม่ใช่เพื่อการล้มล้างพระมหากษัตริย์ แต่เป็นความต้องการที่จะถอดถอนเจ้านายชั้นสูงที่กล่าวถึงทั้งสองพระองค์ออกจากรัฐบาล และเพื่อให้ได้มาซึ่งกฎหมายที่อยู่ในรูปรัฐธรรมนูญ เท่าที่ข้าพเจ้ารับรู้มา ไม่มีการนองเลือด และจนถึงปัจจุบัน ทุกอย่างในเมืองดูสงบเงียบ

อินเดีย ฮ่องกง และ สิงคโปร์ ได้รับแจ้งแล้ว


นายเผด็จให้ข้อมูลว่า รายงานชิ้นนี้ส่งถึงนายเรจินัลด์ เจมส์ บาว์เกอร์ (Reginald James Bowker)เลขานุการของกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ซึ่งก็ได้เขียนสรุปในรายงานการประชุมเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นว่า


ที่ผ่านมา สยามได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และรัฐบาลต้องดำเนินมาตรการที่รุนแรงเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ตอบรับกับรายได้ที่ลดลงอย่างมาก แต่มาตรการเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงการลดเงินเดือนทหารบก และทหารเรือและการเก็บภาษีเพิ่ม ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบรรดาเจ้าที่ดินขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบรรดาพระบรมวงศ์เธอผู้มีอำนาจบารมีทั้งหลาย

การปฏิวัติครั้งนี้ ดูเหมือนว่าดำเนินการโดยคนจากกองทัพบกและกองทัพเรือ และมีเป้าประสงค์โดยตรงไปที่การสลายอำนาจที่ล้นฟ้าของเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งเป็นผลมาจากความรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้ไม่ต้องรับภาระที่เกิดขึ้นเสมอกับกลุ่มอื่น ๆ

ชาวสยามส่วนใหญ่เป็นพวกไม่มีปากมีเสียง พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ มีความจงรักภักดีเป็นอย่างสูงต่อพระมหากษัตริย์ และเท่าที่เราทราบ การเคลื่อนไหวของพวกคอมมิวนิสต์ในประเทศแทบไม่มีความคืบหน้าเลย

ดังนั้นแม้เป็นเรื่องยากที่จะทำนายอนาคตของการปฏิวัติครั้งนี้ มีโอกาสอย่างมากที่ขบวนการนี้จะไม่ใช้แนวทางที่รุนแรงมากไปกว่าที่คุณจอห์นส์ระบุไว้ในย่อหน้าที่ 2 ของโทรเลข

เจ้านายชั้นสูง 2 พระองค์ที่ถูกจับกุม เป็นพระโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระเชษฐาต่างมารดาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน เป็นพระโอรสที่อาวุโสสูง และเป็นสมาชิกที่มีอิทธิพลมากที่สุดของรัฐบาล

ทูลกระหม่อมบริพัตร เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และได้รับมอบหมายให้ดูแลนโยบายกองทัพ พระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ระหว่างการเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาและแคนาดาของพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี 2474

พระองค์เจ้าบุรฉัตรเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และเป็นกลจักรสำคัญในกระทรวงเกษตรด้วย พระองค์ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเจ้าชาย 2 พระองค์ ในบุคคลสำคัญชาวสยาม 1931


ความเห็นดังที่กล่าวข้างต้นสอดคล้องกับความเห็นของหัวหน้าแผนกตะวันออกไกลประจำกระทรวงการต่างประเทศนายชาร์ลส์ วิลเลียม ออร์ด (Charles William Orde) ซึ่งได้ให้ความเห็นว่า "...ในที่สุดชาวสยามที่เป็นคนรักสงบก็ได้หันหลังให้กับระบอบการปกครองแบบเอกสิทธิ์อย่างเจ้า; ความเข้มงวดทางการเงินก็อาจจะมีส่วนในทางอ้อมที่นำมาสู่การก่อการครั้งนี้"



เอกสารอีกชุด ที่เผด็จค้นพบเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นในช่วงเดือน พ.ย. 2476

ในหลักฐานเอกสารบันทึกความจำ (Memorandum) ที่บันทึกโดยนายจี. แฮร์ริสัน (G. Harrison) ระบุว่าความแตกแยกที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชั่วคราวซึ่งส่งผลให้เกิดกลุ่มที่ประกอบด้วยชายหนุ่มที่มีมุมมองที่รุนแรง (Radical Party) กับฝ่ายตรงกันข้ามซึ่งเป็นสายกลาง (Moderate Party) ที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในระบอบเดิม ซึ่งกลุ่มหัวรุนแรงนี้ก็พัฒนามาเป็นฝ่ายรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalist) ส่วนฝ่ายสายกลางก็พัฒนามาเป็นปฏิปักษ์ปฏิวัติ (Reactionary) ซึ่งต่อมาก็คือพวกจารีตนิยม/กษัตริย์นิยม (Traditionalist/Royalist) ตามลำดับในเวลาต่อมา

ในรายงานเดียวกันนี้นายแฮร์ริสันกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างพระปกเกล้าฯ กับฝ่ายกษัตริย์นิยมในการโน้มน้าวพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) หนึ่งในผู้ก่อการให้ถอยออกจากการสนับสนุนฝ่ายรัฐธรรมนูญนิยม โดยอธิบายต่อพระยาทรงสุรเดชถึงความกังวลของพระปกเกล้าฯ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับ "อนาคตของสยามถ้ายอมปล่อยให้ฝ่ายรัฐธรรมนูญนิยมสามารถนำเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจที่ไม่พึงประสงค์ในสภา" และการโน้มน้าวนี้ก็ได้ผลโดยที่พระยาทรงสุรเดชได้สัญญาว่าจะให้การสนับสนุนกลุ่มกษัตริย์นิยม ต่อมาพระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ทหารเสือของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองพร้อมด้วยพระยาฤทธิอัคเนย์และพระประศาสน์พิทยายุทธ ได้ให้การสนับสนุนพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในการประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรในวันเสาร์ที่ 1 เม.ย.2476 และผู้นำของฝ่ายรัฐธรรมนูญนิยม หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ต้องเดินทางออกนอกประเทศ

การกลับมามีอำนาจของกลุ่มกษัตริย์นิยมโดยการสนับสนุนของพระปกเกล้าฯ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. กระตุ้นความไม่พอใจในหมู่นักรัฐธรรมนูญนิยม ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อมาและนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งด้วยกำลังทหารในอีก 69 วันต่อมา ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มิ.ย. ปีเดียวกัน นำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ซึ่งนายแฮร์ริสันเห็นว่าการรัฐประหารครั้งนี้เป็นแค่การเปลี่ยนที่ตัวบุคคลมากกว่าจะเปลี่ยนนโยบาย

ถึงแม้ว่าดูจากภายนอก วิกฤตการเมืองจะดูสงบลงภายหลังการรัฐประหาร แต่กระแสของความไม่พอใจก็ยังคงอยู่ ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าพุ่งเป้าไปที่การรัฐประหารวันที่ 20 มิ.ย. 2476 ซึ่งฝ่ายกษัตริย์นิยมมองว่าทำให้อำนาจของกษัตริย์ลดลงอย่างไม่เหมาะสม และนี่คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่นำมาถึงเหตุการณ์ ซึ่งเป็นความพยายามในการทำรัฐประหารครั้งที่ 4 ภายในเวลา 16 เดือนนับแต่การปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 การก่อการครั้งนี้เกิดขึ้นในวันที่ 12 ต.ค. 2476 นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชซึ่งเป็นสมาชิกของราชวงศ์ วัตถุประสงค์ของการปฏิวัติที่เกือบจะสำเร็จครั้งนี้ก็เพื่อที่จะถวายคืนอำนาจให้กษัตริย์ แต่พระปกเกล้าฯ ออกมาปฏิเสธถึงการเกี่ยวข้องกับการปฏิวัตินี้ ซึ่งทำให้ฝ่ายกษัตริย์นิยมที่สนับสนุนการปฏิวัตินี้ผิดหวังและเสียใจกับการที่พระปกเกล้าฯ ได้รีบบินหนีไปสงขลาและประทับอยู่ที่นั่น และในขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ไว้ใจพระปกเกล้าฯ เพราะมีความมั่นใจว่าการก่อการครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่เป็นที่รับรู้ของพระองค์ ทั้งนี้ในรายงานของนายแฮร์ริสัน ทำให้เราเห็นว่าสถานะของพระปกเกล้าฯ ไม่มีความมั่นคงและล่อแหลม เพราะพระองค์ไม่เป็นที่ไว้ใจของทั้งฝ่ายกษัตริย์นิยมและฝ่ายรัฐธรรมนูญนิยม

ความไม่มั่นคงและล่อแหลมในสถานะของพระปกเกล้าฯ เห็นได้จากโทรเลขของนายเซซิล ฟรานซิส ดอร์เมอร์ (Cecil Francis Dormer) อุปทูตอังกฤษประจำสยาม ที่ส่งมายังกระทรวงการต่างประเทศในลอนดอนว่า "จากสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบอกข้าพเจ้าว่ารัฐบาลเชื่อมั่นว่าการกบฏครั้งนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากการสมรู้ร่วมคิดของกษัตริย์และราชวงศ์" นายดอร์เมอร์ยังรายงานต่อด้วยว่า "สถานะของท่านสั่นคลอนอย่างมากในทุก ๆ ด้านเพราะแม้แต่ฝ่ายผู้นิยมกษัตริย์ก็ยังกล่าวโทษท่านว่าอ่อนแอถึงได้หนีไปทางภาคใต้"

Let's block ads! (Why?)



"ต้องการที่จะ" - Google News
June 23, 2020 at 01:30PM
https://ift.tt/2YSRGGE

88 ปี ปฏิวัติสยาม : เปิดเอกสารรัฐบาลอังกฤษว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งในคณะราษฎร - บีบีซีไทย
"ต้องการที่จะ" - Google News
https://ift.tt/307JncB


Bagikan Berita Ini

0 Response to "88 ปี ปฏิวัติสยาม : เปิดเอกสารรัฐบาลอังกฤษว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งในคณะราษฎร - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Powered by Blogger.